วรุณาจับมือข้าวหงษ์ทอง ริเริ่มโครงการเกษตรอัจฉริยะสู่ความยั่งยืน มุ่งพัฒนา Smart Farm Solution นำเทคโนโลยีและความรู้ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย

บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VARUNA ผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส หรือ ARV ในเครือปตท.สผ. ร่วมลงนามความร่วมมือกับบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด หรือ BSCM ผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงในชื่อตราสินค้า “ข้าวหงษ์ทอง” โดยร่วมกันริเริ่มโครงการ “เกษตรอัจฉริยะสู่ความยั่งยืนในแปลงข้าวและการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์นำเทคโนโลยี Smart Farm Solution จาก วรุณามาใช้วิเคราะห์ วางแผนคาดการณ์ผลผลิต และบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร (End-to-End Solution) สำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทยด้วยนวัตกรรมที่สนับสนุนความยั่งยืน ผ่านการอบรมส่งเสริมองค์ความรู้ ให้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรและเกษตรกร สามารถต่อยอดการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจรจนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย

นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “วรุณาเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง BSCM ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง “ข้าวหงษ์ทอง” และเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในไทยและระดับโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืนของพืชผลทางการเกษตร ผ่านการส่งมอบองค์ความรู้ และทักษะด้านนวัตกรรมสู่เกษตรกรไทย โดยโครงการเกษตรอัจฉริยะสู่ความยั่งยืนในแปลงข้าวและการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ วรุณานำเทคโนโลยี Smart Farm Solution ช่วยจัดการพื้นที่แปลงนาข้าวของ BSCM เพื่อบริหารจัดการแปลงเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร (End-to-End Solution) ตั้งแต่การวิเคราะห์ วางแผนการเพาะปลูกข้าว และจัดการแปลงข้าวด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม (Satellite) กับโดรนสำรวจและภาพถ่าย (Multispectral Drone) นำดาต้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำผ่านแพลตฟอร์ม “Varuna Analytics” ช่วยติดตามสุขภาพของข้าว (Crop Health Monitoring) ติดตามการเจริญเติบโต (Growth Stage Monitoring) และช่วยคาดการณ์ผลผลิต (Yield Prediction) ว่าได้มาตรฐานที่ควรจะเป็นตามระยะเวลานั้นๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังใช้โดรนการเกษตร (Sprayer Drone) “เจ้าเอี้ยง” ช่วยดูแลเรื่องการพ่นปุ๋ยและฉีดผลิตภัณฑ์การเกษตรได้สะดวกขึ้น สามารถเข้าถึงแปลงนาข้าวขนาดใหญ่ได้ง่ายและรวดเร็ว มั่นใจในประสิทธิภาพการพ่นปุ๋ยตรงแปลง ไม่เปลืองผลิตภัณฑ์การเกษตร ช่วยลดเวลาการทำงาน และเกษตรกรไม่ต้องสัมผัสสารเคมี ทั้งนี้ วรุณาจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้จัดการฝึกสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ”

ด้าน ดร.วัลลภ มานะธัญญา ประธานบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวหงษ์ทอง กล่าวว่า “ในปัจจุบัน เกษตรกรข้าวไทยต้องเผชิญปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน และขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีทุนหรือช่องทางเข้าถึงทรัพยากรได้ดีเท่ากับรายใหญ่ อีกทั้งการที่เกษตรกรจำนวนมากเป็นผู้สูงวัย ทำให้ยังนิยมใช้วิธีเพาะปลูกข้าวในแบบดั้งเดิม ส่งผลให้ผลิตผลไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งกระบวนการหลายส่วนยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อโลกอีกด้วย 

บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง หรือ BSCM เป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงของไทยสู่ตลาดโลกที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมข้าวมากว่า 8 ทศวรรษ เราเห็นคุณค่าของความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพึงมี เพื่อยกระดับคุณภาพการเกษตรไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงได้ลงนามความร่วมมือกับวรุณา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยจากมุมมองของเรา วรุณาคือผู้นำด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่นำร่องการใช้นวัตกรรมนำสมัยมาพัฒนาระบบ Smart Farming ช่วยอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในการจัดการเรื่องต่างๆ  นอกจากเพิ่มคุณภาพผลผลิตเพราะได้นวัตกรรมที่ล้ำสมัยมาช่วยตรวจสอบกระบวนการเพาะปลูก และคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ จึงเชื่อมั่นได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำ Know-How ที่มีมาร่วมกับ BSCM ในการจัดทำหลักสูตรเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร ใช้ระบบการจัดการแปลงข้าวแบบ Smart Farming เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างผลผลิตที่ดีออกสู่ตลาด ส่งผลดีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ 

สำหรับโครงการที่จะเกิด BSCM จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการอบรมร่วมกับวรุณา รวมถึงการประชาสัมพันธ์ การประสานงาน และคัดเลือกหน่วยงาน เกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสถานที่ที่ได้จัดไว้ ได้แก่ พื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปี จังหวัดศรีษะเกษ, อุบลราชธานี และพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลุกข้าว จังหวัดปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนเป็นผู้ร่วมติดตามการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมตลอดโครงการ โดยในท้ายที่สุด ทางบริษัทฯ ต้องการให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนสมาชิกที่ได้ร่วมโครงการหงษ์ทองนาหยอด ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 3,000 ราย นอกจากนั้น เรายังต้องการให้เกษตรกรไทยมีการจัดการที่ดีขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านเกษตรกรรมในระดับมหภาคของประเทศ”

“ในมุมของวรุณา เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถส่งมอบความรู้ และทักษะด้านการใช้นวัตกรรมในการจัดการผลผลิตให้กับผู้เข้าอบรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไทย  อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ สำหรับแบ่งปันองค์ความรู้ที่ถูกต้องและการจัดการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สู่ยุคการเกษตรใหม่อันมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนแนวคิดเพื่อความยั่งยืนเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรม” นางสาวพณัญญา กล่าวสรุป

Share your love