Bedrock และเทศบาลนครยะลา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ในการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform) เพื่อยกระดับท้องถิ่นไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด หรือ ‘Bedrock’ (เบดร็อค) ผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการและวิเคราะห์ฐานข้อมูลขั้นสูงเชิงตำแหน่งและพื้นที่อัจฉริยะ ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้นำด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ภายใต้กลุ่มปตท.สผ ได้ลงนามสร้างความร่วมมือกับ ทศบาลนครยะลา เพื่อยกระดับการใช้ข้อมูลเมือง และพัฒนาท้องถิ่นไทย สู่การเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ณ เทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

คุณวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้ร่วมจัดตั้ง บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด และผู้ประกอบการภายในด้านธุรกิจการค้า บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด และ คุณพงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา พร้อมกับ ปลัดเทศบาลนครยะลา คุณประเสริฐ  จันทร์แดง ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ว่าด้วยการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform) ระหว่างบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด และ เทศบาลนครยะลา ร่วมด้วย เจ้าหน้าที่เทศบาลนครยะลาและและทีมงานบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด

การร่วมลงนามในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำความรู้ เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินภารกิจต่าง ๆ ของเทศบาลนครยะลา เพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันในระดับเมือง และช่วยเสริมสร้างกลไกการดำเนินงานของท้องถิ่นให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสโลก คุณวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ได้เน้นย้ำว่า เออาร์วี และเบดร็อค เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยจากฝีมือคนไทย ที่จะช่วยยกระดับเทศบาลนครยะลาเพื่อการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) คุณวีรวัฒน์ ยังได้กล่าวว่า “นครยะลาคือจุดเริ่มต้นสำคัญของทางเบดร็อค เป็นโอกาสที่ดีมากของเบดร็อคที่ได้ร่วมงานกับเทศบาลนครยะลาในการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform)  วิสัยทัศน์ของท่านายกฯ ที่ว่าต้องการเปลี่ยนเมืองสู่การเป็นเมืองที่ชาญฉลาด และท่านายกยังเชื่อว่าข้อมูลคือส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง ผมเชื่อว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอนและเป็นกระบวนการที่จับต้องได้ เทคโนโลยีต้องเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและข้อมูลต้องเข้าถึงได้ง่าย และเทศบาลจ่ายไหว ตรงนี้เป็นความมุ่งมั่นของปตท.สผ.เองเช่นกันที่จะมาลงทุนในเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศบนฐานของการที่เทศบาลสามารถจับต้องได้ และแน่นอนว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองจะเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะสนับสนุนการพัฒนาเมืองในทุกมิติ การผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมฝีมือคนไทยเข้ามาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาของเทศบาลในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเมืองยั่งยืน”

Share your love